กรรมดี-กรรมชั่ว Good & Bad Karma
ภาพในวงกลมรอบนอก ของวงกลมเล็ก มีเส้นแบ่งผ่าซีกไว้ ๒ ข้าง มีพื้นหลังสีดำ มีร่างของมนุษย์ไร้เสื้อผ้า ถูกผูกร้อยโดยหัวหน้า ลากจูงคนเหล่านี้ไปสู่อบายภูมิ ซีกนี้มีความหมายว่า "ยักขิณี" ฝ่ายของพวกที่ทำกรรมชั่ว หรือ กรรมสีดำนั่นเอง ส่วนที่กลุ่มผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ทางข้างซ้าย คือข้างฝ่ายกรรมขาว หรือผู้ประกอบกรรมดี หมายถึง พวกที่มีจิตใจละอายต่อบาป อันได้แก่นักบวชในศาสนาต่าง ๆ หรือ นักบุญ ผู้บำเพ็ญเพียรในธรรม มีความสงบเรียบร้อย เขียนเป็นภาพคน ๗ คน มีความหมายว่า ธรรมะของสัตบุรุษ ๗ ประการก็ได้
กล่าวโดยสรุป ก็คือ กรรมดำกับกรรมขาว หรือกรรมดี-กรรมชั่ว, อกุศลกรรมกับกุศลกรรม มนุษย์ในโลกตกอยู่ในสังสารจักร หรือภวจักร อย่างนี้ ไม่เว้นแต่ละวัน ชั่ว-ดี ทำสลับกันไปสลับกันมาอยู่อย่างนั้น นี่คือผู้ที่ยังว่ายเวียนอยู่ในวงล้อแห่งภวจักร หรือสังสารจักร
ต่อเมื่อเขามีกรรมที่สาม คือ กรรมที่ไม่ดำ-ไม่ขาว ก็จะหลุดพ้น ไม่มีว่ายเวียนอยู่ในกองทุกข์อีกต่อไป พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในพระพุทธภาษิตว่า เมื่อไม่ต้องการเวียนว่ายในกรรมดำ-กรรมขาว ก็จะเดินตามพระพุทธเจ้า คือ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด ก็จะหลุดพ้นออกจากภพภูมิทั้ง ๕ ในที่สุด